หมอจีนคืออะไร ?

หมอจีน หรือ ที่คนไทยบางคนเรียกว่าหมอแมะ จริงๆแล้วเป็นยังไงกันแน่ แล้วมีวิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับหมอจีนให้มากขึ้นกันค่ะ…

การแพทย์แผนจีนนั้นมีประวัติมายาวนานกว่า4000ปี

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด ใช้ยาสมุนไพรตามธรรมชาติ ฝังเข็ม รมยา ครอบแก้ว รวมไปถึงการป้องกันโรคที่ยังไม่เกิด และโภชนาบำบัด โดยจุดเด่นของแพทย์แผนจีนคือ

 

 

1.การรักษาแบบองค์รวม整体观念

นอกจากจะดูความผิดปกติทางร่างกายและอวัยวะต่างๆแล้ว หมอจีนยังให้ความสำคัญต่อคนกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งนั้นหมายความว่าการเกิดโรคภัยไข้เจ็บอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยภายในร่างกายอย่างเดียว แต่สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม สภาพทางสังคมก็ทีส่วนทำให้คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นสูง จะเกิดโรคปวดตามข้อได้บ่อย หรือความเครียดจากสภาพทางสังคม สภาวะเศรษกิจก็ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้านอนไม่หลับ ได้เช่นกัน

2.ตรวจวินิจฉัยวิเคราะห์โรคเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

辩证论治

หมอจีนจะทำการตรวจและวิเคราะห์โรคตามอาการและสภาพร่างกายของแต่ละคนโดยมีวิธีตรวจ4อย่าง 四诊

(望闻问切) คือ

2.1.การดู 望诊

การดูของแพทย์จีน จะดูลักษณะโดยรวมของคนไข้ ดูสีหน้า ดูลิ้น การดูลิ้นสามารถบอกสุขภาพของแต่ละคน และยังสามารถบอกได้ถึงความผิดปกติของ หัวใจ กระเพราะอาหาร ม้าม ตับ ไต ปอด ความรุนแรงและระยะเวลาการเกิดโรค เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจเวลาหมอจีนบอกให้แลบลิ้นค่ะ และไม่ควรแปรงลิ้น หรือทานอะไรที่ทำให้ลิ้นเปลี่ยนสีก่อนมาหาหมอจีน

2.2.การดม/ฟัง 闻诊

การดมและฟังสามารถบอกลักษณะของโรคได้ เช่น ฟังเสียงพูด เสียงดังชัดเจน แสดงว่ามีพลัง เสียงเบา ไม่มีแรง บอกได้ถึงภาวะชี่พร่อง หรือ การฟังเสียงถอนหายใจ คนที่ชอบถอนหายใจแสดงว่ามีภาวะชี่ของตับอุดกลั้น หงุดหงิดง่าย และ การดม ยกตัวอย่างเช่น หากได้กลิ่นกลิ่นแอปเปิ้ลเน่า แสดงว่า เป็นเบาหวานขั้นรุนแรง

2.3.การสอบถามอาการ 问诊

บางคนยังเข้าใจผิดว่ามาหาหมอจีนแล้วไม่ต้องบอกอะไร แค่ให้หมอจับชีพจรก็จะรู้ว่าเป็นอะไร ความคิดนี้ผิดมาก เพราะหมอจีนก็ยังต้องทำการสอบถามอาการเบื้องต้นจากคนไข้ และยังต้องสอบถามคำถามบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด จะได้ทำการตรวจรักษาให้ได้ผลดีที่สุด

2.4.การจับชีพจร 脉诊 หรือที่คนไทยเรียกว่า แมะ

การจับชีพจรจะสามารถบอกได้ถึงความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายที่สำคัญ คือ ปอด ม้าม ไต หัวใจ ตับ

หมอจะนำผลที่ได้จากการตรวจทั้งหมด4ด้านมารวมกัน

เพื่อวิเคราะห์และสรุป ” เจิิ้ง ” 证(เจิ้ง คือ สาเหตุ ประเภท และตำแหน่งของการเกิดโรค( เช่น 风寒犯肺 ลมหนาวคุกคามปอด气血亏虚 พลังและเลือดพร่อง)

โดยคนไข้แต่ละคนจะมีเจิ้งที่แตกต่างกันออกไป โดยที่โรคเดียวกัน อาจเป็นคนละเจิ้ง และเจิ้งเดียวกัน แต่อาจเป็นคนละโรค ยกตัวอย่างเช่น โรคหวัด คนไข้คนนี้อาจเป็น เจิ้งลมหนาว อีกคนเป็นลมร้อน หรือเป็นแบบยินพร่อง หลังจากหมอวินิจฉัยได้ว่า คนไข้ป่วยด้วยเจิ้งอะไร ก็จะเลือกใช้วิธีและหลักการการรักษาที่เหมาะสมกับเจิ้งนั้น เช่น เป็นหวัดจากลมหนาว ก็จะใช้ยากระจายลมหนาว อาจบวกกับการฝังเข็มเพื่อกระจายลมหนาว และรมยาเพื่ออบอุ่นร่างกาย ถ้าเป็นหวัดจากลมร้อนก็ใช้ยากระจายลมร้อน และหากฝังเข็มก็จะใช้วิธีกระจายความร้อนออกจากร่างกาย หากเป็นหวัดจากยินพร่อง ก็ใช้ยาบำรุงยิน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า โรคหวัดเหมือนกันแต่หมอจะจ่ายยาคนละตำรับกัน ยกตัวอย่างอีกหนึ่งตัวอย่าง ของเจิ้งเหมือนกันแต่โรคต่างกัน เช่น นอนไม่หลับ กับ ปวดหัว คนไข้บางคนนอนไม่หลับจากการมีเลือดพร่อง บางคนปวดหัวจากเลือดพร่องเช่นกัน หมออาจจะใช้ยาตำรับเดียวกัน เพื่อรักษาโรคที่ไม่เหมือนกัน นี้เป็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างศาสตร์การแพทย์แผนจีน และแผนปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของศาสตร์แพทย์จีน

เพราะฉะนั้น หากมีคนบอกว่าหมอคนนี้จ่ายยาตำรับนี้ให้คนนั้นคนโน้น แล้วดี ไม่ได้แปลว่ายาตำรับนั้นเหมาะกับเรา ควรจะให้หมอทำการตรวจและวินิจฉัยก่อนถึงจะทานยาจีนได้

การรักษาโดยศาสตร์แพทย์จีนมีหลากหลาย ทั้ง ยาจีน ฝังเข็ม รมยา นวดทุยหนา จัดกระดูก ครอบแก้ว กัวซา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น